เพื่อพัฒนาระบบการเรียน JaLearn ได้ย้ายระบบคอร์สออนไลน์ไปที่เว็บไซต์ใหม่ http://jalearn.co/courses สำหรับผู้เรียนเก่าแจ้งที่ Line: @jalearn เพื่อย้ายข้อมูล

การใช้สีในการออกแบบ

การใช้สีในงานออกแบบสื่อมีทฤษฎีหลักที่ทำให้งานออกมาดูดี และโดดเด่น โดยจะอาศัยวงล้อสีในการเชื่อมโยงการทำงานของสี หลักการเหล่านี้จะเสริมให้งานมีมิติและสมดุลมากขึ้น
การใช้สีในการออกแบบ

หัวข้อในเรื่องนี้

ในงานออกแบบไม่ว่าจะเป็นการทำ Artwork หรือการทำ CI รวมถึงการเลือกรูปและวัตถุมาใส่ในงาน สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นลำดับต้น ๆ ก็คือเรื่องของสี นอกจากจะทำให้งานออกมาดูดี คุมโทนไปในทางเดียวกัน แสดงความโดดเด่นในสิ่งที่ต้องการสื่อสาร ยังเป็นส่วนที่สามารถถ่ายทอดอัตลักษณ์องค์กรออกมาได้ด้วย นอกจากนี้ การใส่สีแต่ละสีร่วมกันยังมีหลักการพื้นฐานที่ทำให้งานออกมาโดดเด่นได้ เป็นสูตรสำเร็จที่สามารถนำไปใช้ได้กับงานอื่นๆได้มากมาย ทั้งงานถ่ายรูป วาดรูป งานออกแบบและการออกแบบสื่อต่างๆ

ลำดับขั้นของสี

ลำดับขั้นของสีจะแบ่งเป็น 3 ขั้น ตามการผสมกันเองจนเกิดสีใหม่ มีทั้งหมด 3 ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1 Primary แม่สีตั้งต้นของทุกสี ได้แก่ สีแดง น้ำเงิน และเหลือง

ขั้นที่ 2 Secondary สีที่เกิดจากการนำแม่สีมาผสมกันในอัตราส่วนเท่าๆกัน จนได้สีใหม่ 3 สี ได้แก่ สีส้ม(แดง+เหลือง) สีม่วง(แดง+น้ำเงิน) สีเขียว(น้ำเงิน+เหลือง)

ขั้นที่ 3 Tertiary สีที่เกิดจากการนำสีขั้นที่ 1 และ 2 มาผสมกันในอัตราส่วนเท่าๆกัน จนเกิดสีใหม่ทั้งหมด 6 สี ได้แก่ สีส้มแดง สีม่วงแดง สีเขียวเหลือง สีเขียวน้ำเงิน สีม่วงน้ำเงิน และสีส้มเหลือง

ทฤษฎีการใช้วงล้อสี

การใช้ทฤษฎีสี (Color Theory) คือ การเลือกใช้สีอย่างมีหลักการ โดยการนำสีจากลำดับขั้นทั้งหมดมาเรียงเป็นวงกลมต่อกันเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในแต่ละสีที่เรียกว่า วงล้อสี (Color Wheel) จากนั้นค่อยดึงสีออกมาใช้ในแต่ละแบบเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาต่างกัน

การใช้สีเดียว (Monochromatic)

เป็นการเลือกสีใดสีหนึ่งจากวงล้อสีมา โดยใช้ร่วมกันกับสีขาว-ดำ เมื่อตัวสีหลักจะมีเพียงสีเดียวเราจะควบคุมงานของเราได้ง่ายขึ้น และการนำสีขาว-ดำเข้ามาใช้ร่วมด้วย จะทำให้งานดูน่าสนใจเนื่องจากเป็นสีกลางที่เข้าได้กับทุกสี การใช้สีแบบนี้นอกจากทำให้เราสนใจสีหลักเพียงสีเดียว เรายังสามารถสร้างมิติให้กับสี โดยการเพิ่มความเข้ม (Shade) ความอ่อน (Tine) ความสด และความซีด (Tone) ก็จะทำให้งานไปในทางเดียวกันและมีสมดุลมากขึ้น

การใช้สีเดียว (Monochromatic)

การใช้สีวรรณะเดียว (Tone)

สีสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วรรณะ คือ วรรณะร้อน และวรรณะเย็น

สีวรรณะร้อน (Warm Tone) ได้แก่ สีเหลือง สีส้ม สีแดง และสีม่วง

สีวรรณะเย็น (Cold Tone) ได่แก่ สีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีม่วง

(สีเหลืองและสีม่วงเป็นสีที่อยู่ได้ทั้งสองวรรณะ)

การใช้สีวรรณะเดียวในงานออกแบบ จะทำให้ตัวงานมีสีไปในทางเดียวกัน เข้ากัน และมีอิทธิพลในการสื่อสารที่ชัดเจน

การใช้สีวรรณะเดียว (Tone)

การใช้สีต่างวรรณะ

เมื่อเรารู้จักวรรณะของสีจากด้านบนแล้ว การใช้สีต่างวรรณะ คือการใช้สีโทนร้อนและเย็นจากวงล้อสีในงานเดียวกัน โดยใช้ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน เพื่อให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งโดดเด่นออกมาอย่างตั้งใจ อัตราส่วนมาตราฐาน คือ 80:20 (โทนเย็น 80 : โทนร้อน 20 หรือ โทนเย็น 20 : โทนร้อน 80) ซึ่งเราสามารถใช้สีในอัตราส่วนอื่นๆได้ เช่น 90:10 หรือ 70:30 ก็จะทำให้การนำเสนอและถ่ายทอดออกมาในอารมณ์ที่ต่างกัน แต่ไม่ควรใช้ในสัดส่วนที่เท่ากัน 50:50 เพราะจะทำให้งานออกมาแบน ทุกอย่างดูเท่ากันไปหมดและหาจุดเด่นได้ยาก

การใช้สีวรรณะเดียว (Tone)

การใช้สีคู่ตรงข้าม (Complemantary)

การใช้สีคู่ตรงข้าม คือ การใช้สีที่อยู่ตรงข้ามกันในวงล้อสี จะทำให้เกิดการตัดกันของสีอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความขัดแย้งที่ทำให้งานโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด สีคู่ตรงข้ามในวงล้อสีมีทั้งหมด 6 คู่ ดังนี้

สีหลือง – สีม่วง

สีแดง – สีเขียว

สีม่วง – สีส้ม

สีเขียวเหลือง – สีม่วงแดง

สีส้มเหลือง – สีม่วงน้ำเงิน

สีส้มแดง – สีเขียวน้ำเงิน

เนื่องจากเกิดการตัดสีทางอารมณ์อย่างรุนแรง การใช้สีคู่ตรงข้ามจึงควรใช้ในอัตราส่วน 80:20 เพื่อให้โดดเด่นเพียงสีเดียว และถ้าหากมีจุดที่ใกล้กันเกินไปให้ใช้สีขาว-ดำเข้ามาช่วย รวมถึงใช้สีคู่ตรงข้ามผสมกันเพื่อทำให้งานมีมิติและสมดุลมากยิ่งขึ้น

การใช้สีคู่ตรงข้าม (Complemantary)

การใช้สามสีตรงข้ามข้างเคียง (Split Complemantary)

การใช้สามสีตรงข้ามข้างเคียง คือการใช้สีคู่ตรงข้าม แต่จะมีสีหนึ่งที่แตกออกมาเป็นสองสี ซึ่งเป็นสีที่อยู่ใกล้กันจากวงล้อสี รวมแล้วจาก 2 สีที่ตัดกันชัดเจน จะกลายเป็น 3 สี ที่มีสีหนึ่งโดดเด่น และอีกสองสีดรอปลงจากสีเดิม ทำให้สีของงานไม่ออกมาตัดกันจนเกินไป และยังสร้างความโดดเด่นให้กับงานได้อยู่

Split Complementary

การใช้สีสามสีข้างเคียง (Analogous)

การใช้สีสามสีข้างเคียง คือการใช้สี 3 สี ที่อยู่ติดกันในวงล้อสี จะทำให้ชุดสีที่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขณะเดียวกันก็จะมีสีหนึ่งที่อยู่ในวรรณะที่แตกต่างกันซึ่งทำให้งานมีจุดเด่นขึ้นมาได้ การใช้สีลักษณะนี้จะค่อนข้างทำได้ง่ายกว่าสองแบบที่ผ่านมา เพราะทำให้คุมค่าสีได้ดี และงานไปได้ทางเดียวกันได้ไม่ยากนัก

การใช้สีสามสีข้างเคียง (Analogous)

การใช้สีสามสีตรงข้าม (Triadic)

การใช้สีสามสีตรงข้าม คือ การใช้สีที่อยู่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจนจำนวน 3 สีบนวงล้อสี ตัวชุดสีที่ได้จะมีความต่างกันอย่างมาก แต่จะไม่ตัดกันจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นชุดสีใด ก็จะได้สีที่อยู่ได้ทั้ง 2 วรรณะมาร่วมด้วยเสมอ ทำให้จะมีทั้งสีวรรณะร้อน วรรณะเย็น และสีที่อยู่ได้ทั้งคู่ที่นำมาลดความขัดแย้ง ทำให้งานออกมาลื่นไหล แต่การใช้งานสีแบบนี้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ เนื่องจากมีสีหลักมากกว่า 1 สี ทำให้การควบคุมยากกว่าเดิมมาก

การใช้สีสามสีตรงข้าม (Triadic)

การใช้สีสี่สีตรงข้าม (Tetradic)

การใช้สีสามสีตรงข้าม คือ การใช้สีที่อยู่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจนจำนวน 4 สีบนวงล้อสี เป็นชุดสีที่สามารถใช้ได้แต่ได้รับความนิยมน้อยเนื่องจากมีสีหลักมากเกินไป แต่ถ้าใช้ในอัตราส่วนที่พอเหมาะก็ทำให้งานออกมาโดดเด่นได้มากเลย

การใช้สีสี่สีตรงข้าม (Tetradic)

จบไปแล้วกับทฤษฎีการเลือกใช้สีที่อิงจากสีบนวงล้อสี ไม่ว่าจะมีหลักการใดออกมา เราสามารถลองใช้และปรับให้เข้ากันกับการใช้งานแต่ละแบบได้ สีทุกสีไม่จำเป็นต้องมีเฉดเดียว เราสามารถเพิ่ม-ลดความเข้ม-อ่อนได้เสมอ ก็จะทำให้งานมีเอกลักษณ์มากขึ้น และสิ่งสำคัญคือการฝึกฝน ถ้าเราใช้ได้คล่องแล้ว หลักการนี้จะอยู่ในทุกสิ่งรอบตัวเราและทำให้สื่อสารออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา ถ้าเราศึกษาวงล้อสีให้ดีและเชี่ยวชาญก็สามารถประยุกต์การใช้งานให้เข้ากับตัวเองได้

อยากอ่านต่อ

คอนเทนต์ใหม่ล่าสุด

สอน Online Workshops จากทีม JaLearn

ในช่วง โควิด-19 ทาง JaLearn ได้จัดการสอน Workshop แบบออนไลน์ให้กับมหาวิทยาลัยและสถาบันต่าง ๆ ในหลายหัวข้อที่เกี่ยวกับการผลิตสื่ออย่างมีคุณภาพ มีอะไรบ้างมาดูกัน

วิธีทำ 3D ง่าย ๆ ด้วย Ai

ใครว่า 3D ทำยาก!! วันนี้ทาง Jalearn ได้หาขั้นตอนการทำ 3D ง่าย ๆ ใน Ai เพียงไม่กี่ขั้นตอนมาฝากทุกคน เผื่อใครที่กำลังรู้สึกอยากเพิ่มลูกเล่นให้งานให้ดูมีอะไรมากยิ่งขึ้น

Scroll to Top
Logo JL 2

เข้าสู่ระบบเพื่อเริ่ม Learn